ขายของริมทางในกรุงเทพมหานคร : ภาคเศรษฐกิจนอกระบบช่วยหล่อเลี้ยงครอบครัวที่ยากจนได้
(คุณนก ตุลาคม 2561)
หาบเร่แผงลอยริมถนนในกรุงเทพมหานครเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจนอกระบบที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมือง แม่ค้าพ่อค้าริมทางเหล่านี้ขายสินค้าหลากหลายประเภท แต่ที่สร้างชื่อเสียงระดับโลกให้กับวงการหาบเร่แผงลอยริมทางของกรุงเทพมหานครคืออาหาร ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
แง่มุมสำคัญเกี่ยวกับแผงอาหารริมทางที่มักถูกมองข้ามคือการที่แผงอาหารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ที่แวดล้อมอยู่ แผงลอยอาหารที่เรียงรายตามท้องถนนในกรุงเทพฯมักจ้างแรงงานที่มีโอกาสจำกัดในการหาเลี้ยงชีพ โคลด เฮแบร์เชย์ (Claude Heyberger) อาสาสมัคร เอทีดี ที่ทำงานในประเทศไทยกล่าวว่า “ธุรกิจแผงอาหารริมทางมีความสำคัญมากต่อครอบครัวที่ยากจน”
“ปลายสุดของภาคเศรษฐกิจนอกระบบที่ได้ค่าจ้างต่ำสุด”
โคลด กล่าวต่อว่า “แรงงานจากหลายครอบครัวที่ยากจนมีรายได้ยังชีพจากการทำงานให้กับแผงค้าริมทาง ทั้งเด็ดพริก ทำความสะอาดแผง ขนของ และทำงานอื่นๆ เขาทำงานแบบนี้ได้เพราะเป็นงานที่ยืดหยุ่น โดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนบุคคล มีงานน้อยชนิดมากที่คนที่เรียนน้อยจะทำได้”
สำหรับครอบครัวที่เผชิญยากจนเรื้อรัง ความฝันที่บ่อยครั้งดูไกลเกินเอื้อมคือได้เป็นเจ้าของแผงริมทาง เพราะส่วนใหญ่ต้องมุ่งเอาชีวิตให้รอดไปแต่ละวัน จึงเป็นการยากที่จะออมเงินไว้ทำกิจการเล็กๆของตนเองและรักษากิจการนั้นไว้ให้ได้ ผู้ค้าริมทางหลายรายที่ประสบความสำเร็จทำงานในแบบธุรกิจครอบครัว โดยครอบครัวเป็นผู้ลงทุนและนำเครือญาติมาช่วยกันทำงานเป็นเวลานานปี ผู้ค้าริมทางต้องมีสุขภาพดีจึงสามารถทำงานได้หลายชั่วโมง ครอบครัวที่ปากกัดตีนถีบมักประสบวิกฤตประจำวันหรือเหตุการณ์ไม่คาดคิด ซึ่งมักรวมเรื่องปัญหาสุขภาพด้วย
แต่เหนือสิ่งอื่นใด การค้าริมทางต้องอาศัยเครือข่ายสังคมที่กว้างขวาง ผู้ค้าต้องต่อรองเรื่องพื้นที่ตั้งแผงและต้องรักษาที่นั้นไว้หากมีคู่แข่ง เจ้าของแผงต้องรู้แหล่งวัตถุดิบราคาถูกที่สุดและต้องมีเครือข่ายที่จะทำให้ได้สินค้าหรือวัตถุดิบดีๆ แต่ครอบครัวที่ยากจนไม่มีเครือข่ายสังคมที่ว่า เพราะคนส่วนใหญ่ในชุมชนก็ยากจนและถูกตัดขาดจากเศรษฐกิจในระบบเช่นเดียวกัน กระนั้นก็ตามแผงค้าริมทางก็ยังเป็นที่มาของรายได้สำหรับหลายครอบครัวที่ยากจนเรื้อรัง
“ขายของริมทางเมื่ออายุ 13”
รองศาสตราจารย์ ดร.นฤมล นิราทร ผู้เป็นพันธมิตรกับเอทีดีมายาวนาน ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจหาบเร่แผงลอยมาเป็นเวลา 20 ปี อาจารย์ได้ร่วมกับ เอทีดี โลกที่สี่ ประเทศไทย SDG Translab และศูนย์ยูนุส กรุงเทพฯ จัดกิจกรรม “เรียนรู้จากประสบการณ์การค้าริมทาง” และด้วยความร่วมมือจากเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทำให้ได้รู้จัก คุณนก หรือ สุรางคณา คันธี สตรีผู้เริ่มประกอบอาชีพการค้าแผงลอยริมทางเมื่ออายุได้ 13 ปี คุณนกมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้นักศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
คุณนกเล่าว่า เธอเป็นชาวจังหวัดอุดรธานี เข้ากรุงเทพฯหลังจบชั้นประถม พ่อแม่เป็นชาวนายากจนเลยไม่สามารถส่งเสียให้เรียนต่อได้
คุณนกเล่าว่า “เราคิดว่าเรามีความสามารถและมีสติปัญญา แต่เราไม่มีเงิน ก็เลยไปเรียนเหมือนคนอื่นๆ ไม่ได้ แต่เราไม่ยอมแพ้”
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเรียนต่อ คุณนกได้สมัครเข้าเรียนศึกษาผู้ใหญ่ และหาเงินเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างทำงานล้างจานหรือทำอาหารตอนกลางคืน
ผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจขนาดเล็กที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง
คุณนกเล่าต่อว่า “เราเริ่มมองหาวิธีที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้น เราเริ่มหัดขายของ พอมีเทศกาลเราก็จะเอาของไปขาย พอวันพระเราจะขายดอกไม้ให้คนเอาไปวัด”
คุณนกได้พัฒนามาเป็นแม่ค้าริมทางที่มีความเชี่ยวชาญ คุณนกอธิบายว่า “เราต้องรู้ใจลูกค้าเราว่าเขาต้องการอะไร เช่นเราต้องรู้ว่าช่วงตรุษจีนเราต้องขายของที่เขาใช้ตอนตรุษจีน ถ้าอากาศหนาวเราต้องเอาเสื้อผ้ากันหนาวมาขาย ถ้าฝนตกก็ขายร่ม”
การขายของริมทางทำให้มีรายได้พอเลี้ยงชีพ แต่คุณนกบอกว่า “เราไม่ได้มีรายได้มาก แต่เราอยากให้ลูกมีชีวิตที่ดีกว่าเรา อยากให้เขาได้เรียนเหมือนเด็กคนอื่นๆ”
เศรษฐกิจขนาดใหญ่สำหรับผู้มีรายได้น้อย
การขายของริมทางไม่ได้เป็นเพียงแหล่งรายได้สำหรับคนนับพัน จากการวิจัยของนฤมล นิราทร พบว่าแผงค้าริมทางเป็นแหล่งอาหารสำหรับครอบครัวรายได้ต่ำในเมือง ส่วนผู้ค้าริมทางหลายคนเป็นหญิงเช่นเดียวกับคุณนก ซึ่งเป็นผู้หารายได้หลักมาจุนเจือครอบครัว แม่ค้าเหล่านี้ไม่มีเงินไปเช่าพื้นที่ในอาคาร ต้องมาขายของริมทางตามตรอกซอย ธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้หลายรายมีความเสี่ยงว่าจะต้องเลิกไปและทำให้หลายครอบครัวขาดรายได้
การเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจนอกระบบที่อยู่ในภาวะเสี่ยง
ผู้ค้าหลายคนมิได้ไม่ชอบทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ คุณนกไม่ได้รู้สึกเสียใจแต่กลับดีใจที่การขายของริมทางทำให้สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ เธอบอกว่า
“เราคิดว่าความจนไม่ใช่ปัญหา(สำหรับเรา) ความจน…เป็นโอกาสให้เราใช้ความสามารถและพัฒนาศักยภาพ”
“เราคิดว่าทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน แม้แต่คนที่มีการศึกษา ถ้าเขาไม่ทำดี เขาก็ไม่มีคุณค่า เขาก็ไม่มีศักดิ์ศรี”
จากการที่รูปแบบการพัฒนาเมืองเริ่มเหมือนกันทั่วโลก การขายของริมทางจึงถูกคุกคามในหลายประเทศเอเชีย การพัฒนาเมืองในลักษณะนี้ให้เศรษฐกิจนอกระบบทั้งหมดมีความเสี่ยง ตั้งแต่คนที่รับจ้างผู้ค้าริมทางไปจนถึงคนที่มาซื้อของราคาย่อมเยาจากแผงริมทางเหล่านี้ ทั้งนี้เพื่อชักหน้าให้ถึงหลัง ผู้ค้าริมทางมักไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดนโยบายที่ส่งผลกระทบกับตน
ทำงานหนัก ฝันสู่อนาคตที่ดีกว่า
ในช่วงเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา สมาชิกเอทีดีได้ไปเยี่ยมชุมชนแห่งหนึ่ง โดยไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้กับครอบครัวที่ยากจนที่สุด เอทีดีพบหลายคนกำลังเด็ดพริกและร้อยมาลัยดอกไม้เพื่อนำไปขายในเมือง เช้านั้นมีเด็กหลายคนตั้งใจเรียนวิธีร้อยมาลัย นี่เป็นการแสดงออกเล็กๆถึงความหวังว่าอนาคตจะดีกว่าที่เป็นอยู่